อุตฯ ดิจิตอลทีวีระอุส่งท้ายปี "อาร์เอส" ชิงทุ่มเม็ดเงิน 200 ล้านบาท ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์สื่อเต็มสูบ เร่งสร้างการรับรู้ "ช่อง 8" ออนแอร์หมายเลข 27 เผยเพิ่งจัดทัพฝ่ายผลิตละครแล้วเสร็จ พร้อมวางกลยุทธ์สร้างรายได้ครบวงจร 360 องศาไว้ทุกเรื่อง รองรับแผนลงทุนปี 59 ที่ทุ่มพันล้านทำไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง มั่นใจประสบความสำเร็จแน่!!
ลาดพร้าว-ดร.องอาจ สิงห์ลำพอง กรรมการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับร่างประกาศฯ เรียงช่องใหม่ ที่มีการจัดเรียงช่องทีวีดิจิตอล ประเภทบริการสาธารณะและธุรกิจ ที่หมายเลข 1-36 เหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม ทั้งช่องทางการรับชมทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน, เคเบิลและทีวีดาวเทียม ถือเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะกับผู้ชมทีวีที่จะช่วยให้ผู้ชมไม่สับสนกับหมายเลขช่องที่จัดเรียงอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลังจากประกาศฯ มีผลบังคับใช้มองว่า ทั้ง (กสทช.) และผู้ประกอบการทีวีจะต้องร่วมกันประชาสัมพันธ์การจัดเรียงช่องใหม่ให้ประชาชนรับรู้ เชื่อว่าหลังจากทุกแพลตฟอร์มจัดเรียงช่องทีวีดิจิทัลเหมือนกันที่ลำดับ 1-36 จะทำให้จดจำช่องได้ง่าย และมีผู้ชมทีวีดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของ "ช่อง 8" เตรียมใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สื่อเต็มรูปแบบ เพื่อสร้างการรับรู้ "ช่อง 8" ออกอากาศหมายเลข 27 ให้เร็วที่สุด ซึ่งในเฟสแรกจะติดตั้งป้ายโฆษณากลางแจ้งทุกจุดสำคัญทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองใหญ่และเส้นทางเดินรถระหว่างเมืองจำนวนกว่า 400 แห่ง เริ่มได้เห็นตั้งแต่ 1 มค.2559 เป็นต้นไป
สำหรับในเฟสถัดไปเริ่มตั้งแต่ 1 มีค.2559 เพื่อขยายวงกว้างไปสู่สื่อโฆษณารูปแบบต่างๆ ได้แก่ สื่อบิลบอร์ดทางด่วน จอแอลอีดี สื่อณ.สถานีการคมนาคมต่างๆ เช่น สื่อรถเมล์ จอที่สนามบินสุวรรณภูมิ ทีวีสถานีรถขนส่งหมอชิต จอแอลอีดีที่สถานีรถไฟหัวลำโพง รวมถึงจอทีวีในห้องน้ำ และศูนย์อาหารต่างๆ ในห้างสรรพสินค้า สำหรับการเปลี่ยนหมายการรับชมช่อง8 โดยการใช้เลข 27 เลขเดียวนั้น มั่นใจว่าไม่ส่งผลกระทบต่อเรตติ้งอย่างแน่นอน เนื่องจากพฤติกรรมคนดูเลือกรับชมที่คอนเทนต์ใช่และชอบเป็นหลัก ดังนั้น หากนำเสนอคอนเทนต์ที่ใช่และชอบก็จะมีคนดูเปิดตามไปดูเอง ซึ่งที่ผ่านมา "ช่อง 8" มีแฟนประจำอยู่แล้วจึงไม่รู้สึกกังวลในเรื่องนี้ ตรงกันข้ามกลับคิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง นับจากนี้เป็นต้นไปจะเป็นการแข่งขันของผู้เล่นรายเดิมและรายใหม่จะได้อยู่ในสนามเดียวกันเสียที คาดว่าสิ้นปีนี้ทางสถานีฯ จะมีเรตติ้งจบอยู่ที่ 4 แสนรายต่อนาที จากปัจจุบัน 3.5 แสนรายต่อนาที เติบโตเท่าตัวเมื่อเทียบกับต้นปี
ล่าสุด บริษัทฯ ได้ขยายฝ่ายผลิตละครเต็มรูปแบบ เพื่อสอดรับกับแผนลงทุนในปี 2559 ที่วางงบประมาณ 1 พันล้านบาท สำหรับผลิตละครไม่ต่ำกว่า 30 เรื่อง รองรับการออกอากาศที่เพิ่มครบทั้ง 7 วัน ทำให้ต่อไปนี้ "ช่อง 8" จะมีทีมผลิตละครเองที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีความหลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยเปิดโอกาสให้ผู้จัดละครนอกบริษัทเข้ามาร่วมงาน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ แบบที่ 1 เป็นลักษณะที่ฝ่ายละครของช่อง8 ผลิตละครเอง และแบบที่ 2 เป็นลักษณะการเซ็นสัญญารับจ้างผลิตละครให้เฉพาะช่อง 8 อาทิเช่น บริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ของเมย์ เฟื่อง-หนุ่ม กรรชัย, บริษัท เกียรติระพี จำกัด ของเอ๊ะ อิศริยา สายสนั่น เป็นต้น ทำให้เห็นสัดส่วนผลิตละครเองอยู่ที่ 40% และว่าจ้างผู้จัดนอกบริษัทผลิตอยู่ที่ 60% โดยตลอดปีหน้าจะได้เห็นละครฟอร์มยักษ์อย่างน้อย 1 เรื่องทุกไตรมาส ได้แก่ ล่าดับตะวัน เชลยศึก ระบำไฟ เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์บริหารจัดการละครที่ผลิตออกมาทุกเรื่องในรูปแบบครบวงจร 360 องศา เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นครอบคลุมทุกมิติมากที่สุด ถือเป็นการปิดประตูขาดทุนนับตั้งแต่วันแรกที่อนุมัติผลิต ดังนี้ มิติแรกเป็นการขายค่าโฆษณาจากการออกอากาศบนช่อง 8 ที่กำลังจะปรับขึ้นเป็น 50,000-320,000 บาทต่อนาที จากทุกวันนี้มีอัตราค่าโฆษณาเริ่มต้น 5 หมื่นบาทต่อนาที และสูงสุด 2 แสนบาทต่อนาที
ตามด้วยมิติที่สองเป็นการขายค่าโฆษณาจากการออกอากาศบนช่องทางยูทูบในชื่อ ช่อง8 ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ติดตามแล้ว 500,000 ราย ถือเป็นอีกช่องทางที่มีแนวโน้มเติบโตดี เพราะสอดรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อายุ 15-45 ปี นิยมรับชมละครย้อนหลังในช่วงเวลาที่สะดวก โดยละครที่มียอดรับชมสูงสุดขณะนี้ ได้แก่ เมียเถื่อน มียอดรับชมสูงถึง 20 ล้านวิว และมิติที่สามเป็นการขายลิขสิทธิ์ละครที่ออกอากาศในประเทศไทยแล้วให้กับต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา, ลาว, เวียดนาม, พม่า บรูไน ฯลฯ ซึ่งปีนี้มีผลการดำเนินงานที่ดีไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท เนื่องจากภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน และคาดว่าปีหน้าจะดียิ่งขึ้นเพราะเปิดการค้าเสรีอาเซียน (เออีซี) เต็มตัว รวมถึงประเทศจีนก็เป็นอีกตลาดที่มาแรงมีนายทุนสนใจซื้อหลายรายด้วย