"อาร์เอส" เปิดแผนธุรกิจครึ่งปีหลังเขย่าวงการเพลง ชู "วัน สต็อป เซอร์วิส" เจาะลูกค้ามิวสิค มาร์เก็ตติ้ง

Backพฤษภาคม 07, 2558

“ผู้บริหารอาร์เอส” เปิดแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง 58 บุกหนักเต็มสูบ ชูกลยุทธ์ “วัน สต็อป เซอร์วิส” ดึงข้อได้เปรียบในการเป็นเจ้าของสื่อเองทั้งทีวีและวิทยุมาช่วยต่อยอดสร้างรายได้เพิ่ม มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าที่ทำตลาดมิวสิค มาร์เก็ตติ้ง แย้มเล็งคลอดซิงเกิ้ลใหม่ทั้งสตริงและลูกทุ่งไม่ต่ำกว่าร้อยเพลง พร้อมเตรียมอัดบิ๊กคอนเสิร์ตและอีเวนต์ใหญ่ส่งท้ายปี ตั้งเป้าสิ้นปีนี้ยอดทะลุ 1.35 พันล้านบาทแน่

ลาดพร้าว-นายศุภชัย นิลวรรณ กรรมการผู้อำนวยการ ธุรกิจเพลง บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มองว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงในช่วงครึ่งปีแรกไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่ได้ฟังเพลงน้อยลงเพียงแต่เปลี่ยนช่องทางการรับฟัง ดังนั้น หากผู้ประกอบการธุรกิจเพลงรับรู้ เข้าใจ และปรับตัวให้สอดรับก็จะสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจเพลงในรูปแบบใหม่ๆได้ ซึ่งเชื่อว่านับจากนี้แนวโน้มการแข่งขันอุตสาหกรรมเพลงจะเข้มข้นไปด้วยรูปแบบทำรายได้ครบวงจร 360 องศา เริ่มตั้งแต่กระบวนคัดสรรศิลปิน ผลิตคอนเทนต์เพลง รวมถึงมีสื่อในมือเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์นำพาคอนเทนต์เพลงไปให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรงและรวดเร็ว ตลอดจนต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้คอนเทนต์เพลง ส่งไปยังตัวศิลปินเพื่อสร้างรายได้อื่นๆ เช่น พรีเซ็นเตอร์สินค้าต่างๆ, แอมบาสเดอร์โครงการต่างๆ, งานโชว์ตามกิจกรรมการตลาดต่างๆ เป็นต้น

ในส่วนของอาร์เอสหลังจากปรับโครงสร้างใหม่ตั้งแต่เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ด้วยการซีเนอจี้ (Synergy) เข้ากับธุรกิจต่างๆ ภายในเครือ เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่และเกิดประโยชน์หรือรายได้สูงสุด ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เริ่มเห็นผลจากการตอบรับของพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจในการใช้เม็ดเงินเพื่อการลงโฆษณา รวมถึงการต่อยอดกับตัวคอนเทนต์เพลง ดังนั้น ในครึ่งปีหลัง 2558 บริษัทฯ จะเสริมทัพด้วยการหยิบจุดแข็งทางด้านการเป็นเจ้าของสื่อทั้งทีวีและวิทยุมาต่อยอดการทำงานให้เป็นแบบวันสต็อป เซอร์วิส (One Stop Service) ควบคู่การใช้กลยุทธ์คัสโตเมอร์ โอเรียนเต็ด (Customer Oriented) โดยจะยึดถือเอาความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ทำให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าในแง่คนฟังเพลงหรือลูกค้าในแง่พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่มุ่งเน้นใช้กลยุทธ์มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง (Music Marketing) เป็นหัวหอกทำตลาด

ปัจจุบันธุรกิจเพลงแบ่งออกเป็น 4 ค่าย ได้แก่ กามิกาเซ่ ได้รับการพัฒนาเป็นมากกว่าค่ายเพลงเข้าสู่การเป็นเอนเตอร์เทนเมนท์ คอมมูนิตี้ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายวัยทีนอายุ 12-18 ปี, เยส มิวสิค ค่ายที่นำเสนองานเพลงหลากรูปแบบจากหลายศิลปิน เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายอายุ 17-40 ปี, การ์เด้นท์ มิวสิค ค่ายที่นำเสนอเพลงฟังสบายจากนักร้องที่มีความสามารถ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายอายุ 17-40 ปี และอาร์สยาม ค่ายเพลงลูกทุ่งวาไรตี้ เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายอายุ 15-50 ปี ขณะที่ธุรกิจสื่อที่ต่อยอดจากธุรกิจเพลง ประกอบด้วย สบายดีทีวี ช่องเพลงยอดนิยมอันดับ 1 ของเมืองไทย, สบายดีเรดิโอ คลื่นวิทยุเพลงไทยหลากสไตล์ อันดับ 1 ที่เปิดเพลงฮิตคละเคล้าทั้งเพลงสตริงและลูกทุ่ง ตอบสนองคนที่ชอบฟังเพลงเพราะ เพลงฮิต ไม่จำกัดแนว และ ยูแชนแนล ช่องเพลงไทยสากลที่มีเพลงฮิตจากศิลปินฮอตและเพลงที่คิดถึงให้รับชม โดยตั้งเป้ารายได้รวมสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.35 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 30 % เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจเพลง 40% ธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างธุรกิจสื่อทั้งทีวี, วิทยุ และธุรกิจอีเวนต์ 60%

โดยในช่วงครึ่งปีหลัง 2558 นอกจากเตรียมออกซิงเกิ้ลใหม่ทั้งเพลงสตริงและเพลงลูกทุ่งไม่ต่ำกว่า 100 เพลง ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยศิลปินไฮไลต์ที่จะมีผลงานโดดเด่น ได้แก่ ใบเตย, ฟิล์ม รัฐภูมิ, จ๊ะ, กระแต, หวาย, ขนมจีน, ธามไท, เนโกะ จัมพ์, Thank You, Black jack, หลวงไก่, บ่าววี, จินตหรา พูนลาภ, กุ้ง สุธิราช ฯลฯรวมทั้งยังเตรียมจัดอีเวนต์ใหญ่หลายโปรเจคอาทิเช่น สบายดีสัญจร, ลูกทุ่งเฟลติวัลปี 5 ส่งท้ายปี เป็นต้น

“ผมไม่รู้สึกกังวลกับภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงที่ดูจะเป็นโจทย์หินแต่ไม่ยาก เพราะมันอยู่ในความคาดหมายของเราอยู่แล้ว แถมผมเองก็เกิดและเติบโตในธุรกิจนี้มากว่า 23 ปี ผ่านทุกบทพิสูจน์มาหมดแล้ว ยิ่งเรามีแต้มต่อในการเป็นเจ้าของสื่อเอง ปั้นศิลปินเอง ทำเพลงเอง มาบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ยิ่งทำให้เกิดความคล่องตัวแถมมีความยืดหยุ่นในการทำธุรกิจสูง ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนการทำงานอีกด้วย เรียกว่ามีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุดอย่างแท้จริง” นายศุภชัย กล่าวทิ้งท้าย