อาร์เอสพลิกบทบาทการบริหารศิลปิน ในรูปแบบการทำมาร์เก็ตติ้งแนวใหม่ เน้นเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปินและเพิ่มมูลค่าทางการตลาด ด้วย 2 กระบวนการหลัก ทั้งกระบวนการสร้าง และกระบวนการบริหาร เพิ่มความเข้มข้นด้วยหลัก 3 R "Recruit", "Repack" และ "Research" ให้ศิลปินมีความยั่งยืน และสะท้อนความเป็นซุปเปอร์สตาร์ในวินโดร์ที่หลากหลาย
ลาดพร้าว- นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยถึงกลยุทธ์ใหม่ของกระบวนการบริหารจัดการศิลปิน หรือทีเรียกว่า Artist Management ของบริษัทฯ ว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเพลงเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี การเพิ่มขึ้นของสื่อในรูปแบบใหม่ๆ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกเสพคอนเทนต์ได้หลากหลาย ทั้งในแง่ของรูปแบบและช่องทาง อันทำให้วงจรชีวิต (Life Cycle) ของศิลปินแต่ละคนจะค่อนข้างสั้น ดังนั้นกระบวนการสร้างศิลปิน 1 คนให้มี Life Cycle ที่ยั่งยืนและยาวนานครองใจผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของต้นสังกัด ที่จะต้องหาช่องทางใหม่ๆมาผลักดันเพื่อความสำเร็จของศิลปิน
ซึ่งที่ผ่านมา อาร์เอสได้ปรับเปลี่ยนกระบวนยุทธ์ในการบริหารศิลปินของเราให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางการตลาดมาโดยตลอด และในปีนี้ บริษัท ฯ ได้วางกลยุทธ์ในการบริหารและพัฒนาศิลปินในสังกัด ด้วยกลยุทธ์ Superstar Success Management ที่เน้น 2 กระบวนการใหญ่คือ กระบวนการสร้าง และ กระบวนการบริหาร
โดยกระบวนการสร้าง หรือ Integrated IDOL Management เป็นกระบวนการสร้างซุปเปอร์สตาร์ (Super Star) ตั้งแต่เริ่มแรกที่ประกอบด้วยกลยุทธ์ 3 R คือ กระบวนการสรรหาซุปเปอร์สตาร์ (Recruit) ในการค้นหาคนที่มีความสามารถในหลากหลายด้าน เพื่อนำมาพัฒนาและฝึกฝนให้เป็นศิลปินที่มีคุณภาพ ซึ่งศิลปินนั้นจะต้องมีพร้อมทั้งความสามารถและมีวินัยในตนเอง จากนั้นเข้าสู่ กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยการ Synergy กับคอนเทนต์อื่นๆจากส่วนต่างๆภายในองค์กรเพื่อ (Repack) ศิลปินให้มีความน่าสนใจ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละศิลปินทั้งในแง่ของศักยภาพและเอกลักษณ์เฉพาะตนของศิลปินด้วย และปิดท้ายด้วย การทำวิจัย (Research) ทุกครั้งเพื่อสร้างความแน่ใจ และเป็นการวัด Feedback ในตัวของศิลปินเบอร์นั้นๆ
กระบวนการที่สอง คือ กระบวนการบริหาร นั้นหมายถึง กระบวนการสร้างเสริมองค์ประกอบในระดับซุปเปอร์สตาร์ (Superstar Class) ให้กับศิลปินในกลุ่มนี้ เพื่อสร้าคงวามแตกต่าง หลากหลายและสะท้อนจิตสำนึกที่ดีของศิลปินที่มีต่อสังคม โดยเราเรียกองค์ประกอบเหล่านี้ว่า Superstar DNA ซึ่งประกอบไปด้วย 3 ส่วน โดยส่วนแรกคือภาพลักษณ์ที่ดี (Good Image) ไม่ว่าศิลปินเบอร์นั้นจะทำอะไรก็ต้องสะท้อนความเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม รวมถึงการแสดงออกถึงความสามารถที่หลากหลายในหลายๆช่องทาง มีการพัฒนาจากนักร้องไปเป็นนักแสดง, พิธีกร, พรีเซ็นเตอร์สินค้าต่างๆเป็นต้น ส่วนที่สองคือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR (Corporate Social Responsibility) เพื่อสะท้อนการทำธุรกิจเพลงในแนว Green Music Marketing ซึ่งเป็นการสนับสนุนวิสัยทัศน์การเป็นผู้ปฏิบัติการสร้างสรรค์ผลงานบันเทิงคุณภาพด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ศิลปินจะต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสาธารณกุศลต่างๆ ในรูปแบบของอาสาสมัคร หรือแม้กระทั่งการเป็นทูตในมูลนิธิหรือองค์กรต่างๆ เช่น ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ในบทบาทของการเป็นทูตมูลนิธิที่อยู่อาศัยเพื่อมนุษยชาติ ประเทศไทย (Habitat for Humanity Thailand) หรือ บีม-กวี ตันจรารักษ์ กับบทบาทของทูต WWF ประเทศไทย (องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม) เพื่อรณรงค์ปลุกจิตสำนึกเยาวชนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อม และส่วนสุดท้ายคือ ขั้นตอนของการตลาดที่ถือเป็นการเชื่อมโยงฐานลูกค้าระหว่างศิลปินและพันธมิตรทางธุรกิจ (Relevant Marketing) ซึ่งสามารถพิสูจน์ความเป็นศิลปินที่มีคุณภาพ เนื่องจาก Superstar ที่สร้างมาจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน มีไลฟ์สไตล์(Lifestyle) หรือมีคาเรคเตอร์ (Character) เฉพาะกลุ่ม ดังนั้นกลุ่ม Partner และ Sponsorship ที่เข้ามาก็จะใช้ศิลปินที่ตรงกับความต้องการในการเจาะตลาดนั้นๆได้เป็นอย่างดี Case Study ที่ชัดเจนคือความร่วมมือระหว่างบริษัท ฯ และทรูมิวสิค ในการใช้ โปงลางสะออน, กุ้ง สุธิราช, บิว กัลยาณี, กระแต ศิลปินลูกทุ่งยอดนิยมค่ายอาร์สยาม ในเครืออาร์เอส ที่มาสร้างความสนุกแบบไร้ขีดจำกัด ผ่านทรูมิวสิคซิม พร้อมคอนเสิร์ตทั่วไทย ทั้งนี้กระบวนการที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับศิลปิน(Artist Value) และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางการตลาด (Marketing Value) ควบคู่กันไป ซึ่งจะส่งผลในการเพิ่ม Life Cycle ของศิลปินให้ยั่งยืนและยาวนานมากขึ้นอีกด้วย