"อาร์เอส" ผ่าตัดธุรกิจเพลงครั้งใหญ่พร้อมปฎิวัติอุตสาหกรรมเพลงเมืองไทย ยกระดับเทียบชั้นมาตรฐานสากลโลก

Backกรกฎาคม 24, 2550

" อาร์เอส " ปรับโครงสร้างธุรกิจมิวสิคใหม่ ขานรับนโยบายบริษัทในการเป็นเครือข่ายบันเทิงและกีฬาแบบครบวงจร แต่งตั้ง " สุทธิพงษ์ วัฒนจัง " ดูแลเพลงสตริง ขณะที่มอบหมายให้ " ศุภชัย นิลวรรณ " กุมบังเหียนเพลงลูกทุ่ง เพิ่มสภาพคล่องในการทำงาน พร้อมงัดกลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ๆ รุกตลาดเต็มสูบ หวังขยายฐานเข้าสู่ทุกเซกเมนต์ใหม่ทางดนตรี เพื่อครอบคลุมผู้ฟังทุกกลุ่มเป้าหมาย เล็งปฎิวัติอุตสาหกรรมเพลงเมืองไทย ยกลิขสิทธิ์ให้เป็นของผู้สร้างสรรค์ค์งานเพลง ทั้งครูเพลง นักแต่งเพลง คนประพันธ์ทำนองและเนื้อร้อง นับตั้งแต่วันแรกที่ผลงานออกสู่สาธารณชน เทียบชั้นมาตรฐานสากลระดับโลก  

วิภาวดี -นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลงใหม่ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก ( Core Business ) ของบริษัท ทั้งในแง่ปรับทีมงานและวิธีการทำงานให้มีอำนาจการตัดสินใจได้เลย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการนำเสนอผลงานคุณภาพสู่สาธารณชน สอดรับกับนโยบายของบริษัทฯ ที่สู่ความเป็นเครือข่ายบันเทิงแบบครบวงจร ( The Entertainment Network ) ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางการตลาดเมืองไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งคาดว่าสิ้นปีนี้บริษัทจะมีรายได้จากธุรกิจเพลง 1 พันล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนเพลงไทยสากล 35% และเพลงลูกทุ่ง 65%

" ธุรกิจเพลงในวันนี้ยังมีความสำคัญมากสำหรับอาร์เอส เพราะธุรกิจเพลงเปรียบเสมือนแหล่งต้นน้ำใหญ่ ที่หล่อเลี้ยงธุรกิจอื่นๆ และเป็นตัวสร้างซีเนอร์จี้ ( Synergy ) ให้กับธุรกิจเรา เพราะการที่อาร์เอสขึ้นมาจนเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะเรามีธุรกิจเพลงที่แข็งแรง อย่างไรก็ดี แม้เราจะมั่นใจในศักยภาพของเราในวันนี้ แต่เราก็ไม่เคยประมาทสำหรับอนาคตข้างหน้า จึงมีการเตรียมวางแผนปฎิวัติวิชั่นในการดำเนินธุรกิจของเรา ซึ่งการปฎิวัติแรกของเรา ก็คือ การปฎิวัติภายในองค์กร " นายสุรชัย กล่าว

โดยมอบหมายให้ นายสุทธิพงษ์ วัฒนจัง ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการ ดูแลธุรกิจเพลงไทยสากล ซึ่งจะมีการปรับจัดทีมทำงานใหม่ ให้มีความชัดเจน ให้เกิดความหลากหลาย มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถทำงานในเชิงรุกได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจเพลงไทยลูกทุ่ง ยังคงมอบหมายให้ นายศุภชัย นิลวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์สยาม จำกัด ในเครืออาร์เอส ดูแลนำทัพต่อไป แต่จะปรับและเสริมกลยุทธ์การตลาดแบบใหม่และทำงานในเชิงรุกมากยิ่งขี้น

นอกจากนี้ผมมองว่าการปรับเปลี่ยนหรือปฏิวัติภายในองค์กรตามที่กล่าวมาแล้วนั้นคงไม่เพียงพอที่จะรองรับกับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมดนตรีโลก ผมมองว่าถึงเวลาแล้วที่ RS ต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลงไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในเรื่องการถือครองลิขสิทธิ์ ที่เป็นประเด็นสำคัญและมีความเห็นต่างกันอยู่ โดยจากอดีตถึงปัจจุบันค่ายเพลงในประเทศไทย(ส่วนใหญ่) จะถือครองลิขสิทธิ์เหล่านี้ตลอดไป ซึ่งเป็นการปิดกั้นและไม่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์งานที่ดี สู่ศิลปิน แต่จากนี้ไป RS จะเปลี่ยนกติกาและวิธีการทำธุรกิจใหม่ให้เข้ากับมาตรฐานสากล (International Standard) โดยผู้สร้างสรรค์งานเพลงทั้งครูเพลง นักแต่งเพลง ผู้ประพันธ์ทำนองและเนื้อร้อง จะเป็นเจ้าของงานที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้นนับจากวันแรกที่คิดจินตนาการผลงานนั้น โดยผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงก็คือ ผู้สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเอง โดยจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจ (Inspiration) ในการที่จะสร้างสรรค์งานดีๆ ที่มีคุณภาพสู่สาธารณชนมากขึ้น โดยที่ตัวผู้สร้างสรรค์งานเพลงเองก็จะได้ครอบครองสิทธินั้นอย่างสมบูรณ์แบบและได้ผลตอบแทนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วน RS เองก็จะได้ประโยชน์จากนโยบายที่เปิดกว้างขึ้นในการทำงานอย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งจะส่งผลให้ RS มีโอกาสได้ร่วมงานกับผู้สร้างสรรค์งานทั้งใหม่และเก่าได้อย่างเต็มที่

สำหรับ นายสุทธิพงษ์ วัฒนจัง รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS กล่าวถึงแผนดำเนินธุรกิจเพลงไทยสากลในช่วงครึ่งปีหลัง 2550 ว่า บริษัทฯ ตั้งเป้าจะขยายตลาดเข้าสู่เซ็กเมนต์ใหม่ๆ ทางดนตรีเต็มสูบ เพื่อให้บริษัทฯ มีผู้ฟังครอบคลุมทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกันจะใช้กลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ๆ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำตลาดเพลงเซกเมนต์วัยรุ่น ที่แข็งแกร่งอยู่แล้วให้มีมาตรฐานสูงขึ้น โดยมีการแบ่งแบรนด์บริหารจัดการตามกลุ่มเซกเมนต์ทางดนตรีประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน

" ความจริงผมก็อยู่ตรงนี้มากับอาร์เอสตลอดตั้งแต่ช่วงแรกๆ เลยก็ว่าได้นะครับ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติให้มาเป็นผู้ดูแลธุรกิจเพลงไทยสากล ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท โดยเพลงของอาร์เอสมีการแบ่งเซกเมนต์อย่างชัดเจน โดยเซกเมนต์เดิมของทางอาร์เอสก็ยังคงมีอยู่ แต่จะทำให้แข็งแรงขึ้นแล้วไปเพิ่มในส่วนเซกเมนต์อื่นที่น่าสนใจ ที่เราสามารถเข้าไปร่วมหรือบุกเบิกได้ในอนาคต เราจึงวางบุคลากรให้เหมาะสมกับแนวเพลงต่างๆ โดยที่เราจะได้มีการผลิตศิลปินสร้างสรรค์งานต่างๆ ให้ออกมาอย่างมีคุณภาพดียิ่งขึ้นจากที่เป็นอยู่ " นายสุทธิพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางนำเสนอคอนเทนต์เพลงใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละเซกเมนต์ทางดนตรีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเว็บไซด์ให้เป็นชุมชนหรือสังคม ที่นำเสนอข่าวสารความเคลื่อนไหวความบันเทิง เช่น www.zheza.com เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 12-18 ปี และ www.youdumv.com เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบการชมมิวสิควีดีโอที่มีอายุระหว่าง 15-35 ปี

อีกทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานโดยยึดข้อมูลจากความต้องการของผู้ฟังในแต่ละกลุ่มเซกเมนต์เป็นหลัก ( Consumer Insight ) เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานตอบให้ตรงโจทย์ความต้องการของตลาดมากที่สุด

ส่วน นายศุภชัย นิลวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์สยาม จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจเพลงไทยลูกทุ่งในเครืออาร์เอส เปิดเผยถึงแผนดำเนินธุรกิจเพลงไทยลูกทุ่งในช่วงครึ่งปีหลัง 2550 ว่า มีแผนจะรุกทำตลาดภาคเหนือและอีสานต่อไป หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดภาคใต้อย่างสูง ขณะเดียวกันจะใช้กลยุทธ์ การตลาดรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งให้ศิลปินที่มีศักยภาพเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้าชั้นนำ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในโลกธุรกิจร่วมกัน

" ที่ผ่านมาเราจับมือกับบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ทำโปรเจคคนใต้หัวใจเข้มข้น เพื่อนำกองทัพศิลปินทำกิจกรรมร่วมกับชาวใต้ ถือเป็นการสร้าง Brand Awareness เพื่อกระตุ้นยอดขายร่วมกัน หรือโครงการล่าสุดเราผนึกกับเอไอเอส นำศิลปินบ่าววีเป็นตัวแทนคนใต้ร่วมแสดงหนังโฆษณาตัวใหม่ชื่อสวัสดี ซึ่งนอกเหนือจากการทำตลาดลักษณะนี้แล้ว เรายังมีการดึงศิลปินที่มีชื่อเสียงมาร่วมสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาร์สยาม เพื่อให้บริษัทฯ มีผู้ฟังครอบคลุมทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีศิลปินแม็กเน็ท อาทิ วงโปงลางสะออน , กุ้ง สุทธิราช เจ้าชายแห่งวงการลิเกของภาคกลาง, จินตหรา พูนลาภ ราชินีหมอลำ, วงสะล้อ ศิลปินที่มีความสามารถจากภาคเหนือ, วงประถมบันเทิงศิลป์ กลุ่มหมอลำใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน, ปีเตอร์ โฟดิฟาย ศิลปินคุณภาพของภาคกลาง " นายศุภชัย กล่าวท้าย