RS ไฟเขียวนำทุนสำรอง-ส่วนเกินมูลค่าหุ้น ล้างขาดทุนสะสมหมดเกลี้ยงกว่า 300 ลบ.

Backกันยายน 20, 2549

ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น RS ไฟเขียว นำทุนสำรองตามกฎหมายและส่วนเกินมูลค่าหุ้น มาชดเชยผลขาดทุนสะสมหมดเกลี้ยงรวดเดียวกว่า 300 ล้านบาท พร้อมประกาศลดพาร์จากหุ้นละ 5 บาท เหลือ 1 บาท หวังเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขาย เผยมีแนวโน้มจ่ายปันผลจากผลการดำเนินงานปี 49 ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ เหตุมั่นใจผลประกอบการไตรมาส 3 และ 4 โกยกำไร

ลาดพร้าว - นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า มติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2549 พิจารณาอนุมัตินำทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 5,400,000 บาท และส่วนเกินมูลค่าหุ้นจำนวน 309,993,648.50 บาท มาชดเชยผลขาดทุนสะสม ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 จำนวน 315,393,648.50 บาท

ขณะเดียวกัน ยังพิจารณาอนุมัติเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ ( Par Value ) จากหุ้นละ 5 บาท เหลือหุ้นละ 1 บาท เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายหุ้นสามัญของ RS ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งเพื่อขยายฐานการลงทุนให้ครอบคลุมนักลงทุนรายย่อย ทำให้นักลงทุนรายย่อยมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัทมากขึ้น

" ขณะนี้ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นอนุมัติให้นำทุนสำรองตามกฎหมาย และส่วนเกินมูลค่าหุ้นมาชดเชยผลขาดทุนสะสม ซึ่งถือเป็นข่าวดี เพราะการไม่มีขาดทุนสะสมทำให้สามารถจ่ายปันผลได้ ตามนโยบายของบริษัทที่กำหนดจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ แล้วเราก็มั่นใจว่าไตรมาส 3 และ 4 จะทำกำไรอย่างแน่นอน " นายสุรชัย กล่าว

นอกจากนี้ ยังพิจารณาอนุมัติยกเลิกการออกและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิ ( warrant ) ที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ ให้แก่พนักงาน ( ESOP ) และ/หรือบริษัทย่อยจำนวน 5,000,000 หน่วย ตามที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2548 (20 เมษายน 2548) และยังพิจารณาอนุมัติลดหุ้นจดทะเบียนที่ยังไม่ได้นำออกจำหน่าย จำนวน 5,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่

ตราไว้ ( Par Value ) หุ้นละ 5 บาท คิดเป็นจำนวน 25,000,000 บาท เนื่องจากการยกเลิกออกและเสนอขายวอร์แรนต์ข้างต้น ทำให้ไม่มีความจำเป็นจะต้องสำรองหุ้น

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2549 บริษัทมีรายได้รวม 757.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 4.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่มีกำไรสุทธิ 35.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 126.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 350.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

สาเหตุที่รายได้เพิ่มขึ้นมาจาก 4 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.รายได้ค่าโฆษณาเท่ากับ 59.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.3% มาจากธุรกิจวิทยุและธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ 2.รายได้ค่าลิขสิทธิ์เท่ากับ 48.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49.7% มาจากธุรกิจดาวน์โหลดเพลงและธุรกิจภาพยนตร์ 3.รายได้ผลิตภาพยนตร์เท่ากับ 25.5 ล้านบาท เนื่องจากมีภาพยนตร์เข้าฉาย 2 เรื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีภาพยนตร์เข้าฉายเพียง 1 เรื่อง และ 4. รายได้รับจ้างผลิตเท่ากับ 23.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% มาจากผลิตละครเพิ่มขึ้น

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาสสุดท้าย ยังคงตอกย้ำโมเดลธุรกิจใหม่ ในการเป็นผู้นำทางด้าน Entertainment Content Provider ด้วยการนำคอนเทนต์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพลง ละคร ภาพยนตร์ รายการทีวี วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ อีเว้นต์มาร์เก็ตติ้ง ฯลฯ มาต่อยอดธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นการบริหารสินทรัพย์ทำรายได้ 360 องศารอบตัว

พร้อมทั้งยังคงรายได้รวมปีนี้ตามเป้าที่วางไว้ประมาณ 3.2-3.3 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโต 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่มีรายได้รวม 2.7 พันล้านบาท แบ่งสัดส่วนรายได้มาจาก ธุรกิจเพลงหรือคอนเทนต์ 45% ธุรกิจสื่อ ได้แก่ ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ 45% และธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ รับจ้างผลิต รับจ้างจัดงานอีก 10%

" แม้จะมีปัจจัยลบหลายอย่าง โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนทางด้านการเมือง แต่ ยังมั่นใจว่ารายได้เติบโตตามเป้าที่วางไว้ เพราะเรามีการทำงานหนักอย่างระมัดระวังมากๆ อีกทั้ง หากย้อนไปดูภาวะ

วิกฤตในอดีตที่ผ่านมาจะพบว่า นอกจากธุรกิจบันเทิงจะไม่ได้รับผลกระทบแล้ว ตรงกันข้ามกลับเติบโตได้ดีด้วย เพราะคนไทยยิ่งเครียดก็ยิ่งหาความบันเทิงให้ตัวเอง ได้ผ่อนคลาย " นายสุรชัย กล่าว