SMS Marketing

Backสิงหาคม 08, 2549

โดย ยรรยง อัครจินดานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน)

การสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยการส่งข้อความขนาดสั้น Short Message Service หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า SMS เป็นรูปแบบการสื่อสารที่เป็นที่นิยมกันอย่างยิ่งในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีเป็นการติดต่อสื่อสารที่มีข้อจำกัดอยู่มากมาย เช่น ถ้าเป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษจะส่งได้ข้อความละ 160 ตัวอักษร ขณะที่ภาษาไทยส่งได้ข้อความละ 70 ตัวอักษร ตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวนมากยังมีข้อจำกัดในเรื่องการใช้ภาษาไทยอยู่ ทำให้บางคนอาจจะได้รับข้อความตัวยึกยืออยู่เป็นประจำ สร้างความรำคาญใจให้กับผู้รับที่ไม่ได้อยากรับเป็นอย่างยิ่ง

ลักษณะการใช้บริการ SMS อาจจะแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น

  •   แบบ One to One เช่นการส่งระหว่างบุคคลจากเลขหมายหนึ่งไปสู่เลขหมายหนึ่ง บางคนอาจจะส่งข้อความเดียวให้กับหลายผู้รับก็นับเป็นการส่งครั้งละ 1 ข้อความ เป็นการสื่อสารลักษณะทั่วไปที่ใช้กัน เหมาะสำหรับ ผู้ที่อยากสื่อสาร แต่ไม่อยากเสียเวลาคุย หรือ ต้องการความชัดเจน มีหลักฐานประกอบ

  •   แบบ One to Many เป็นการส่งจาก ระบบเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือบริการอินเตอร์เน็ตใด ๆ สู่เครื่องรับโทรศัพท์ ครั้งละหลาย ๆ ผู้รับพร้อมกัน บางระบบอาจส่งได้สูงถึงครั้งละ 500,000 ผู้รับในขณะเดียวกัน ลักษณะนี้ มักจะเป็นลูกค้าองค์กร เช่น องค์กรธุรกิจต้องการสื่อข้อความส่งเสริมการขาย ถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย

  •   แบบ Interactive เป็นการส่งจากเครื่องโทรศัพท์เข้าสู่เลขหมายที่กำหนดไว้ เพื่อร่วมออกความเห็น, สมัครร่วมกิจการ หรือขอใช้บริการต่าง ๆ ลักษณะนี้ มักใช้ในธุรกิจสื่อ เพื่อเป็นการประเมินความนิยม และสร้างการสื่อสารสองทาง อีกกลุ่มหนึ่ง ที่นิยมใช้บริการในลักษณะนี้ คือ กลุ่มที่ให้บริการ mobile marketing เช่น ผู้ให้บริการดาวน์โหลด เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์ ทั้งหลาย

    เนื่องจากประชากรโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยมีสูงถึง 30 ล้านเลขหมาย การติดต่อสื่อสารใดๆ โดยผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จึงเป็นการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพราะโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับคนไทยแล้ว ถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารส่วนบุคคลที่แทบจะขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน การส่ง SMS เพื่อเป้าหมายในการสื่อสารการตลาด จึงเป็นทางเลือกของกลุ่มธุรกิจต่างๆ จนกระทั่ง ในปัจจุบัน ถึงแม้เราจะไม่เคยไปโหวตแสดงความเห็นใดๆ เราก็จะได้รับข้อความ นำเสนอทั้งสินค้าและบริการอยู่บ่อยครั้งจนหลายท่านอาจจะรู้สึกรำคาญ

    การนำ SMS มาใช้ในกระบวนการการตลาดหรือที่เราจะเรียกต่อไปว่า SMS Marketing จึงเป็นเสมือนดาบสองคม เหรียญสองด้าน ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่ได้แปลกประหลาดไปจากประดิษฐ์กรรมใด ๆ ในโลกนี้ที่มีทั้งประโยชน์และโทษ แล้วแต่ว่าผู้ใช้งานด้วยจริยธรรมในระดับไหนและเราเป็นผู้กระทำหรือถูกกระทำในกิจกรรมเหล่านี้ และใครจะเป็นผู้ควบคุมดูแล หรือ " จัดการ " ให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม

    ปัจจุบัน กิจกรรมการแจ้งข่าวสารทั่วไป SMS ถูกนำมาใช้อย่างหลากหลายเช่น

  •   ธุรกิจการเงิน การแจ้งรายการส่งเสริมการขาย, การแจ้งเตือนชำระค่างวด, การแจ้งราคา/ดัชนีหลักทรัพย์

  •   กีฬา การแจ้งผลการแข่งขัน การวิเคราะห์เกมส์ก่อนการแข่งขัน

  •   ธุรกิจท่องเที่ยว การจัดส่ง Promotion Package ต่าง ๆ หรือแนะนำเทศกาลต่าง ๆ ที่น่าสนใจ

  •   ธุรกิจข้อมูลข่าวสาร การแจ้งข่าวในลักษณะ Headline News ซึ่งสามารถทำได้ทุกประเภทข่าว ทั้งการเมือง กีฬา บันเทิงและเศรษฐกิจ

  •   ธุรกิจขายตรง การติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในเครือข่าย, การ update program ต่าง ๆ

  •   โรงพยาบาล การติดต่อกับแพทย์ พยาบาล การตั้งเวลาเตือนกำหนดนัดให้กับคนไข้

  •   การติดต่อภายในองค์กร การแจ้งข่าวสารภายในองค์กรให้กับพนักงาน เช่น ราคา promotion เพื่อให้พนักงานขายสามารถมีข้อมูลที่ทันเวลา

    จากสถิติในประเทศอังกฤษ การใช้ SMS Marketing สามารถมีอัตราการตอบกลับ (respond rate) มากกว่า 10 % ส่วนในประเทศไทยนั้น การนำเสนอ offer ใหม่ ๆ อาจได้รับผลตอบรับถึง 25 % ซึ่งสูงกว่าการทำ Direct Marketing โดยทั่วไปอยู่มาก แต่ผลตอบแทนย่อมลดน้อยถอยลง ขึ้นอยู่กับ ข้อเสนอ( offer ) และความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอของแต่ละข้อความ ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับงานโฆษณาทั่วไป ที่ผู้รับสาร จะให้ความสนใจ ก็ต่อเมื่อข้อความนั้นน่าสนใจ หรือผู้รับเห็นว่า ข้อความนั้นมีประโยชน์ต่อตน

    นอกจาก จุดเด่น ในเรื่องความรวดเร็ว ทันใจแล้ว ต้นทุนในการใช้ SMS Marketing ถือได้ว่าค่อนข้างต่ำ คือประมาณ 1.50 - 2.00 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนที่ใช้ส่ง และในบางบริการที่เป็นลักษณะการสื่อสารสองทาง (Interactive) เช่นในรายการโทรทัศน์ต่าง ๆ ถือเป็นช่องทางในการสร้างรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่งด้วย แม้ว่าจะไม่ใช่รายได้หลักของรายการเหล่านั้น แต่การที่สามารถรับรู้ได้ว่าผู้ชมรายการมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างไรนั้น เป็นสุดยอดปรารถนาของผู้จัดทำรายการอยู่แล้ว

    ผู้ได้รับประโยชน์จาก SMS Marketing เป็นอันดับหนึ่งคือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Network Operation) ซึ่งได้รับค่าบริการโดยทั่วไป 50 % ของค่าบริการที่เรียกเก็บ ไม่ว่าค่าบริการนั้นจะเป็น 3 บาท, 5 บาท, 6 บาท หรือ 9 บาท อันดับสองคือ ผู้ผลิตรายการหรือเจ้าของบริการ นั้น ๆ จะได้รับในรูปแบบของส่วนแบ่งค่าบริการ หรือรูปแบบของคุณค่าเพิ่มในรายการนั้น ๆ แล้วแต่ว่ารายการเหล่านั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร อันดับสามคือ เจ้าของสินค้า หรือบริการในกรณีที่ SMS นั้นมีไว้สำหรับเผยแพร่ ชักชวนให้ใช้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ อันดับสุดท้ายคือ ผู้ใช้บริการ ได้ประโยชน์จากความพึงพอใจที่ได้รับเมื่อได้เข้าร่วมในบริการนั้น ๆ

    ลักษณะของการใช้บริการ SMS ยังอาจแบ่งในแง่พฤติกรรมการใช้ได้ 2 ลักษณะ คือ

    Push Service เป็นลักษณะการใช้บริการในฐานะผู้รับข้อความ เช่น ได้รับ SMS เสนอโปรโมชั่นหรือบริการต่าง ๆ

    Pull Service เป็นลักษณะการได้รับบริการเมื่อได้รับการเห็นชอบ หรือเต็มใจกระทำจากเจ้าของเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น การเข้าไปโหวต, การแสดงความเห็น, การเข้าไปดาวน์โหลดบริการต่าง ๆ

    ผมได้อ่านบทความจากผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ ท่าน รวมถึงปฏิกิริยาจากผู้บริโภคหลาย ๆ ท่าน คือเรื่องราคาและความรำคาญที่เกิดจาก SMS ผมอยากจะให้มองอย่างแยกแยะในส่วนนี้ โดยหลักการที่ผมได้นำเสนอไปแล้วว่า เหรียญมีอยู่สองด้านเสมอ ในเรื่องราคา ผมคิดว่า ไม่น่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญนัก ถ้าเราสามารถสนับสนุนให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และเป็นธรรมได้ การเอาเปรียบผู้บริโภค ก็ย่อมน้อยลงไปเองตามกลไกตลาด ซึ่งค่าบริการ SMS ก็ไม่ได้หนีจากกฎของอุปสงค์อุปทานได้ การนำเสนอราคาที่ไม่เป็นธรรม อาจจะสร้างความหลงผิดลูกค้าได้ในการทดลองใช้ แต่เมื่อผู้ใช้บริการรู้สึกว่าไม่คุ้มค่า บริการนั้น ๆ ก็ย่อมล้มเหลวไปในที่สุด ถ้าท่านท่านทั้งหลายที่มีหน้าที่กำกับดูแล ให้ความสนใจในเรื่อง ราคา ผมอยากเสนอให้ช่วยดูเรื่องโครงสร้างรายได้ ระหว่างผู้ให้บริการเครือข่าย (mobile network operator) กับผู้ให้บริการข้อมูล ( content provider) น่าจะเป็นการสร้างสรรค์กว่า เพราะสังคมที่อุดมด้วยความรู้ (knowledge based society) จะเกิดขึ้นได้ ผู้ให้บริการข้อมูล ควรได้รับการดูแลพอสมควร

    ส่วนประเด็น เรื่องการรบกวน จากข้อความโฆษณาเชิญชวน ซึ่งไม่เข้าเรื่องเข้าราว น่าเบื่อ เรารู้สึกมากเพราะเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์ติดต่อที่เราให้ความสำคัญกับมันมาก(เกินไปหรือไม่ ??) การส่งข้อความในลักษณะนี้ ก่อให้เกิดความรำคาญ โดยทั่วไปเราจะได้รับ Junk mail ขายบ้าน ขายเครื่องสำอาง รับกำจัดปลวก , Spam email ต่าง ๆ อย่างมากมายอยู่แล้ว ผมกลับคิดว่า spam sms เป็น spam ที่ไร้รสนิยมที่สุด สามารถลบทิ้งได้ง่ายที่สุดด้วยซ้ำไป ผมเชื่อว่านักการตลาดที่ขาดความรู้เรื่อง Database Marketing เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด ของ Spam SMS ผลตอบแทนที่นักการตลาดเหล่านี้ได้รับ คือผลตอบแทนที่ต่ำลง เมื่อเทียบกับต้นทุนค่าส่ง SMS

    อันที่จริง Spam SMS ที่ควรจะมีการพิจารณาเป็นพิเศษ คือ SMS ที่ออกมาจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ( Mobile Network Operator) เอง ที่มักจะส่งออกมาทีละมากมาก เพราะเจ้าของเครือข่ายไม่ได้มีต้นทุนผันแปรเพิ่มในการส่ง SMS ซึ่งทางหน่วยงานกำกับดูแลน่าจะเพ่งพินิจในส่วนนี้มากกว่า เพราะผู้ให้บริการเครือข่าย เป็นผู้ที่ดูแลฐานข้อมูล ควรจะมีการรักษาสิทธิและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการเป็นอย่างดีที่สุด ในกรณีที่ผู้บริโภค ต้องการให้ระงับการรับ SMS ในลักษณะ spam ควรมีช่องทางดำเนินการให้โดยเร็ว โดยส่วนตัว ผมใช้บริการของ ผู้ให้บริการใหญ่อันดับหนึ่ง ก็ได้แจ้งขอไม่รับ ข้อความไป ก็สามารถลดความรำคาญไปได้ระดับหนึ่ง เพราะก็ยังมีเล็ดลอดมา โดยเฉพาะ จากผู้ให้บริการเครือข่ายเอง มาเป็นระยะ ส่วนที่เข้ามาโดยไม่ได้รับเชิญ ก็มีจาก บริการสินเชื่อบุคคล ของฝรั่งบริษัทหนึ่ง ซึ่งขยันส่งมาก ทั้งที่ผมไม่เคย หรือมีความปรารถนาอยากใช้บริการแต่อย่างใด ก็จำกันไว้ ผมเชื่อว่ามันสะท้อนประสิทธิภาพการให้บริการขององค์กรนั้นๆด้วยว่า มั่วขนาดไหน ใครคิดจะให้บริการหรือชักชวนผ่าน SMS ก็ช่วยๆกันคิดให้ถ้วนถี่ด้วยนะครับ ลูกค้าก็มีหัวใจ SMS ไม่ใช่ มนต์สะกดให้ลูกค้าต้องทำตาม