"อาร์เอส" ผนึก "เนสท์เล่-ยามาฮ่า-เซเว่นฯ" งัดกลยุทธ์สตอรี่บอร์ด เพลสเม้นท์ ร่วมผลิตและทำตลาดหนัง "รักนะ 24 ชั่วโมง"

Backเมษายน 24, 2550

" อาร์เอส " สร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกให้วงการหนังไทย ผนึก " เนสท์เล่-ยามาฮ่า-เซเว่นอีเลฟเว่น " 3 ยักษ์ใหญ่เป็นพันธมิตรหลักทางธุรกิจ งัดกลยุทธ์รูปแบบใหม่ " สตอรี่บอร์ด เพลสเม้นท์ " ร่วมผลิตและทำตลาดหนังรักโรแมนติกเรื่อง " รักนะ 24 ชั่วโมง " นำแสดงโดย " ฟิล์ม-รัฐภูมิ " และ " เจี๊ยบ-ลลนา " จ่อคิวเข้าฉายในโรง 20 มิ.ย. นี้ เผยทุ่มงบผลิต 20 ล้าน ขณะที่เทงบทำตลาดเต็มสูบ 30 ล้าน มั่นใจโกยรายได้ไม่ต่ำกว่า 70 ล้าน ชี้เป็นการต่อยอดธุรกิจในลักษณะวิน-วินทุกฝ่าย

เกษตรนวมินทร์-นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จับมือกับบริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ CP7-11 เป็นพันธมิตรหลักทางธุรกิจ ( sponsor ) ใช้กลยุทธ์การตลาดรูปแบบใหม่ " สตอรี่บอร์ด เพลสเม้นท์ ( Storyboard Placement ) " เพื่อร่วมผลิตและทำตลาดในภาพยนตร์แนวรักโรแมนติกเรื่องรักนะ 24 ชั่วโมง

โดยการใช้กลยุทธ์ข้างต้นถือเป็นการสร้างปรากฏการณ์ครั้งแรกให้กับวงการภาพยนตร์ไทย ซึ่งไม่ใช่แค่การไท-อิน ( tie-in ) ทั่วไป ที่นิยมนำสินค้าเข้ามาวางเป็นประดับฉาก หรือให้ดารานักแสดงถือเข้าแต่ละฉากเท่านั้น หากแต่เป็นการเปิดโอกาสให้พันธมิตรหลักทางธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับทีมผู้สร้างตั้งแต่วันแรกที่เริ่มวางพ็อตเรื่อง เพื่อให้สอดรับกับแคมเปญทางการตลาดของสินค้านั้นๆ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เข้าฉายในโรง นับเป็นการสร้างความรู้สึกร่วมให้ผู้ชม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับผู้บริโภคสินค้านั้นๆ เกิดความคิดคล้อยตามว่า ตัวเองก็มีโอกาสที่จะเป็นได้เหมือนตัวละครในภาพยนตร์เรื่องที่กำลังชมได้

" รูปแบบการทำตลาดแบบนี้เป็นกลยุทธ์ที่วิน-วินกันทุกฝ่าย เพราะมีการร่วมทำงานกันระหว่างโปรดิวเซอร์ ทีมการตลาด และสปอนเซอร์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นวางพ็อตเรื่อง โดยอาร์เอสเป็นผู้นำพ็อตเรื่องไปเสนอให้กับสปอนเซอร์ว่า จะมีการวางสินค้าเข้าไปในหนังในลักษณะไม่ยัดเยียดสินค้าให้กับผู้ชม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับผู้บริโภคสินค้านั้น ๆ จนเกินไป เพราะมีการสร้างสถานการณ์ให้เนื้อเรื่องดำเนินแบบเกี่ยวเนื่องระหว่างสินค้ากับตัวละครได้อย่างลงตัว เช่น เรามีเซเว่นฯ เป็น 1 ในสปอนเซอร์ ก็มีการผูกเรื่องให้พระเอกและนางเอกเป็นพนักงานของเซเว่นฯ พบรักกันในที่ทำงาน " นายสุรชัย กล่าว

ขณะที่บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เตรียมจัดแคมเปญ " รักนะ 24 ชั่วโมง ล้านนี้เพื่อเธอ " ซึ่งเป็นหนึ่งใน Gimmick ของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว เพื่อคืนกำไรให้กับลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟทุกประเภท ส่งซองมาร่วมชิงโชคทองคำมูลค่า 1 ล้านบาท ระหว่างเดือนกรกฏาคมจนถึงตุลาคม 2550 ขณะที่บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เตรียมจัดแคมเปญ " รวมพลคนรักฟีโน่ " เพื่อคืนกำไรให้กับลูกค้าที่ขับขี่ยามาฮ่า ฟีโน่ตามหัวเมืองใหญ่ทั้ง 4 ภาคทั่วไทย ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสาน รวมทั้งกรุงเทพฯ ได้มีส่วนร่วมเข้าชมภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ตลอดจนเตรียมจัดงานประมูลยามาฮ่า ฟีโน่คันเดียวกับที่ฟิล์ม-รัฐภูมิ ซึ่งเป็นพระเอกใช้ขับขี่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพื่อบริจาคเงินเป็นการกุศล

ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวใช้งบผลิต 20 ล้านบาท และงบทำตลาด 30 ล้านบาท ซึ่งมั่นใจว่าจะมีรายได้เฉพาะจากบ็อกซ์ ออฟฟิคในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ต่ำกว่า 70 ล้านบาท เพราะนอกจากเป็นหน้าหนังแนวรักโรแมนติก ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแล้ว ยังได้จับมือกับพันธมิตรหลักทางธุรกิจที่แต่ละรายมีความแข็งแกร่งในตัวเอง ร่วมวางพล็อตเรื่องให้สอดรับกับแคมเปญทางการตลาด ที่พันธมิตรแต่ละรายเตรียมจะจัดขึ้นในช่วงเวลาภาพยนตร์เข้าฉายในโรง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดทางธุรกิจที่คืนกำไรให้กับลูกค้าได้อย่างลงตัว

" ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังเรื่องที่ 3 ของปีนี้ นำแสดงโดยฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์, เจี๊ยบ-ลลนา ก้องธรนินทร์, บ๊วย-เชษฐวุฒิ วัชรคุณ, ค่อม ชวนชื่น, ฮาย-อาภาพร นครสวรรค์ ฯลฯ ซึ่งจะเข้าฉายในโรงตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2550 นับเป็นการสร้างภาพยนตร์ตามโมเดลธุรกิจใหม่ ที่เน้นลงทุนร่วมผลิตและทำตลาดเชิงรุกกับพันธมิตร ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน โดยมีการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคว่า ต้องการรับชมหนังประเภทไหน เพื่อนำไปคิดสร้างสรรค์พล็อตเรื่อง และหน้าหนังให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด เพื่อปิดประตูขาดทุนพร้อมรับรู้กำไรตั้งแต่ตั๋วใบแรก " นายสุรชัย กล่าว

สำหรับแผนดำเนินธุรกิจของอาร์เอสฟิล์ม ซึ่งดำเนินธุรกิจภาพยนตร์ในช่วงครึ่งปีหลัง 50 ยังคงใช้โมเดลธุรกิจต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีแรก ที่เน้นลงทุนร่วมผลิตและทำตลาดเชิงรุกกับพันธมิตร ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน โดยมีการทำวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคว่า ต้องการรับชมหนังประเภทไหน เพื่อนำไปคิดสร้างสรรค์พล็อตเรื่อง และหน้าหนังให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ภายใต้งบการผลิตไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อเรื่อง เพื่อปิดประตูขาดทุนพร้อมรับรู้กำไรตั้งแต่ตั๋วใบแรก