ธุรกิจในปัจจุบันของอาร์เอส ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง ธุรกิจสื่อ ธุรกิจเพลงและอื่นๆ
ประเภทรายได้ |
2560 |
2561 |
2562 |
|||
จำนวน |
สัดส่วน |
จำนวน |
สัดส่วน |
จำนวน |
สัดส่วน |
|
ธุรกิจพาณิชย์ |
1,389.1 |
40 |
2,126.8 |
56 |
2,012.4 |
56 |
ธุรกิจสื่อ |
1,703.5 |
49 |
1,344.7 |
35 |
1,069.2 |
30 |
ธุรกิจเพลงและอื่นๆ |
409.1 |
11 |
355.2 |
9 |
529.5 |
14 |
รวมรายได้ |
3,501.7 |
100 |
3,826.7 |
100 |
3,611.1 |
100 |
ประกอบด้วย 2 สื่อหลัก ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุ
ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) ดำเนินงานภายใต้บริษัท อาร์เอส มอลล์ จำกัด และบริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด โดยมีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม (Health & Beauty Products) ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัวและผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน (Home & Lifestyle Products) และเครื่องประดับ โดยผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (Skin Care) ภายใต้แบรนด์ “มาจีค” (Magique) ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม (Hair Care) ภายใต้แบรนด์ “รีไวฟ์” (Revive) และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Food Supplement) ภายใต้แบรนด์ “เอส.โอ.เอ็ม.” (S.O.M.) ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและผู้ผลิตสินค้ามาตรฐานสากลทั้งในและต่างประเทศ ผลิตผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ตอบโจทย์ลูกค้า อีกทั้ง ได้ร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง ทำให้มีสินค้าขายผ่านช่องทางการขายของธุรกิจพาณิชย์ รวมทั้งสิ้นกว่า 100 รายการ โดยการจัดหาสินค้าจะมาจากข้อมูลวิจัยโดยห้องวิจัยและทดลองชั้นนำที่บริษัทฯ ทำงานร่วมกัน รวมถึงการเก็บข้อมูลจากลูกค้าโดยตรง ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงเทรนด์และความต้องการของสภาพตลาดโดยรวมและความต้องการของผู้บริโภคก่อนที่จะพัฒนาสินค้าแต่ละประเภท โดยทั้งก่อนและระหว่างการจำหน่ายสินค้าแต่ละประเภท จะมีการสุ่มตรวจสอบคุณภาพสินค้า โดยนำส่งส่วนประกอบเพื่อการตรวจสอบกับห้องวิจัยอย่างสม่ำเสมอ หากเป็นสินค้าของพันธมิตร จะมีการสุ่มตรวจทั้งก่อนนำส่งเข้าคลัง และในระหว่างที่ออกจากคลังไปถึงมือผู้บริโภค
ช่องทางการขายหลายช่องทางที่บริษัทฯ มีการพัฒนาและเสริมความหลากหลายอย่างต่อเนื่องภายใต้แบรนด์ “อาร์เอส มอลล์ (RS Mall)” ผ่านช่องทางสื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ของบริษัทฯ ได้แก่ 1) สื่อออฟไลน์ที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของทั้งช่อง 8 ช่องทีวีดาวเทียม และสื่อวิทยุผ่านคลื่น COOLfahrenheit รวมถึงการขยายไปยังช่องทีวีดิจิทัลซึ่งเป็นพันธมิตรของบริษัทฯ อีก 2 ช่อง ได้แก่ ไทยรัฐทีวี และเวิร์คพอยท์ ที่สามารถเข้าถึงผู้ชมได้กว่า 30 ล้านคนต่อวัน 2) สื่อออนไลน์บนแพลตฟอร์มของบริษัทฯ ได้แก่ www.rsmall.co.th และ LINE SHOP ผ่าน @RS Mall ซึ่งมีผู้ติดตาม (Followers) รวมกันกว่า 500,000 บัญชี และในระหว่างปี บริษัทฯ ได้ทำข้อตกลงทางการค้ากับแพลตฟอร์มออนไลน์ชั้นนำอื่นๆ ในประเทศเพื่อนำเสนอสินค้าผ่านช่องทางเหล่านี้ เช่น Shopee และ Lazada รวมถึง 3) จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) กว่า 600 แห่งทั่วประเทศ
การขายผ่านช่องทางต่างๆ นั้น (ยกเว้นการวางสินค้าผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านจำหน่ายเวชสำอาง) หากลูกค้ามีความประสงค์ที่จะซื้อสินค้าและบริการ สามารถติดต่อสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ โดยบริษัทฯ พัฒนาระบบเทเลมาร์เก็ตติ้งอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับจำนวนฐานลูกค้าที่เติบโตสูงขึ้นกว่า 1.3 ล้านราย สามารถวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้ตรงตามความต้องการและไลฟ์สไตล์ของลูกค้าอย่างแม่นยำ รวมถึงพัฒนาทักษะและความสามารถของทีมเทเลมาร์เก็ตติ้งที่โทรออก (Outbound Call Center) ให้สามารถนำเสนอสินค้าได้ตอบโจทย์ของลูกค้า และปิดการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเพิ่มทีมระบบหลังการขาย (Customer Relationship Management (CRM)) เพื่อดูแลลูกค้าคนสำคัญระดับวีไอพี สร้างความพึงพอใจ และรักษาฐานลูกค้าให้มีความภักดีต่อแบรนด์ RS Mall และเพิ่มจำนวนการซื้อซ้ำให้สูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดกิจกรรมการขายและการตลาดตลอดทั้งปี เช่น “Shop1781 Mid Year Super Sales” และ “RS Mall New Year Celebration 2020” เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของลูกค้า ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าที่อยู่บนฐานข้อมูลของบริษัทซึ่งเติบโตขึ้นเท่ากับ 1.3 ล้านราย ณ สิ้นปี 2562
บริษัทฯ ได้จัดจ้างบริษัทภายนอกในการส่งสินค้าแก่ลูกค้า สำหรับลูกค้าในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับสินค้าภายในวันถัดจากวันที่สั่งซื้อสินค้าและบริการ และลูกค้าในพื้นที่ต่างจังหวัด จะได้รับสินค้าภายใน 1-5 วัน และการชำระเงินกว่าร้อยละ 99 เป็นการเก็บเงินสดปลายทางจากลูกค้า
ตลาดค้าปลีกของไทยมีขนาดตลาด 4-5 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตในอัตราที่ค่อนข้างสม่ำเสมอที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี แต่ในปี 2562 อัตราการเติบโตต่ำลงอยู่ในระดับร้อยละ 3.1 และคาดว่าในปี 2563 คาดเติบโตอยู่ในระดับร้อยละ 2.7-3.0 อย่างไรก็ตาม ตลาด E-Commerce ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อปานกลางถึงบน ยังคงมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าตลาดค้าปลีกแบบอื่น และจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น และมีอัตราการเติบโตสูงในระดับเกินกว่าร้อยละ 20 ต่อปี โดยเฉพาะในไทยมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในระดับภูมิภาคอาเซียน ณ สิ้นปี 2562 รายได้กว่าร้อยละ 90 ของธุรกิจพาณิชย์ของอาร์เอส เป็นการโฆษณาและจัดจำหน่ายผ่านสื่อออฟไลน์ของบริษัทฯ หากพิจารณาในแง่การแข่งขัน ถือได้ว่า บริษัทฯ ไม่มีคู่แข่งโดยตรง จากพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งเกิดจากความพึงพอใจและการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ จากคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ ราคา รวมถึงการจัดทำโปรโมชั่น ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าในขณะนั้นๆ อีกทั้งกลุ่มผู้ชม ผู้ฟัง รวมถึงแฟนเพลง และแฟนรายการที่เข้าถึงสื่อของบริษัทฯ ก็มีความแตกต่างจากสื่อของบริษัทอื่น ณ ช่วงเวลาเดียวกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ตลาด Online Shopping จะเข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากขึ้น แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า คาดว่าผู้บริโภคก็ยังมีการเลือกซื้อสินค้าผ่านทั้ง ช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์ ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและอารมณ์หรือความต้องการ ณ ขณะนั้น (Emotional) อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า พร้อมกับการบริการที่สร้างความประทับใจ หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าในแต่ละราย (Customized Experience) มีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเร็ว เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละรายที่พยายามมองหาประสบการณ์หรือสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ เพื่อให้เกิดการกลับมาซื้อซ้ำ และยังอาจเกิดการบอกเล่าหรือการแชร์ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ได้รับจนเกิดเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ โดยการคาดการณ์นี้ สอดคล้องกับวิธีการขยายธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทฯ ดังจะเห็นได้ว่า ในปี 2562 นอกเหนือจากการโฆษณาและขายผ่านช่องทางสื่อของบริษัทฯ ที่มีอัตราการเติบโตสูงจากผลของการวิเคราะห์ข้อมูลและความต้องการของลูกค้าอย่างใกล้ชิด และมีทีมเทเลมาร์เก็ตติ้งที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแล้วนั้น บริษัทฯ ยังได้ขยายช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ ทั้งช่องทางออนไลน์ และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อีกทั้ง บริษัทฯ อยู่ในระหว่างการพัฒนาช่องทางการขายผ่าน Application COOLISM ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของ COOLfarenheit ที่ให้ผู้ฟังรับฟังเพลงออนไลน์ที่มี Active User เกือบ 2 ล้านราย ถือได้ว่าเป็นช่องทางใหม่ที่จะเปิดตัวในปี 2563 ซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ณ ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
บริษัทฯ ร่วมมือกับสถาบันวิจัยนานาชาติเป็นผู้คิดค้นส่วนผสมที่สำคัญในแต่ละผลิตภัณฑ์ เมื่อได้ส่วนผสมหรือสารสกัดที่สำคัญแล้วจะนำมาผลิตโดยผู้ผลิตชั้นนำระดับประเทศ และบางส่วนเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรซึ่งเป็นผู้รับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ นำผลิตภัณฑ์มาโฆษณาและจำหน่ายผ่านช่องทางการขายของบริษัทฯ
< กลับอาร์เอสประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลช่อง 8 และทีวีดาวเทียมจำนวน 3 ช่อง ได้แก่ สบายดีทีวี ช่อง 2 และ SATV ซึ่งมีรูปแบบ และกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน ดังนี้
สถานีโทรทัศน์ “ช่อง 8” ภายใต้คอนเซปต์ “ใครๆ ก็ดูช่อง 8 กดเลข 27” นำเสนอรายการที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์ส่วนใหญ่ของประเทศ วางคอนเซปต์ให้เป็นฟรีทีวีที่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลายเพศและวัย โดยมีรายการที่เป็นแม่เหล็กของช่อง ได้แก่ รายการข่าวกับสโลแกน “ข่าวช่อง 8 เข้าใจง่าย เชื่อถือได้” ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั้ง “คุยข่าวเช้าช่อง 8” “คุยข่าวเย็นช่อง 8" และ “คุยข่าวค่ำ” รวมถึงรายการข่าวอื่นๆ เกี่ยวกับปากท้องชาวบ้าน เรื่องร้องทุกข์ พาชิมเมนูเด็ด และสถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตต่างๆ ทั้งรายการ “เจาะประเด็น” “คุยข่าวปากท้อง” และ “สะกิดข่าวรอบโลก” รวมถึงรายการในกลุ่มกีฬามวยที่มีเรตติ้งดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง “8 มวยไทยซุปเปอร์แชมป์” และเพิ่มเวลาสำหรับรายการมวยในวันเสาร์ “มวยฮาร์ดคอร์ มวยพันธุ์ดุ” ที่มีเอกลักษณ์แตกต่างคือการใช้นวมแบบเปิดนิ้วในการต่อย (นวม MMA) อีกทั้งมวยระดับโลกที่ได้รับลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสด ได้แก่ “UFC มวยกรง 8 เหลี่ยม” หลังจากที่ช่อง 8 ได้คงความเป็นผู้นำซีรีส์ต่างประเทศที่ได้รับความนิยมสูงมาอย่างยาวนาน ในปี 2562 นี้ ช่อง 8 ได้เริ่มผลิตซีรีส์ไทย 4 ตอนจบ ภายใต้ชื่อ “เดอะซีรีส์ รักลวงหลอน” ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ในกรุงเทพและปริมณฑลเพิ่มขึ้นจากรายการเดิมถึงร้อยละ 70 สำหรับละครใหม่ในปี 2562 จำนวน 10 เรื่อง ได้แก่ “ดงผู้ดี” “มัจจุราช ฮอลิเดย์” “บุษบาเปื้อนฝุ่น” “ปมรักสลับหัวใจ” “เพรงลับแล” “มณีนาคา” “เทพธิดาขนนก” “เพลิงริษยา” “เล่ห์รัญจวน” และ “สางนางพราย” ซึ่งละครในปี 2562 ยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม และช่อง 8 จะยังผลิตละครคุณภาพในแนวดราม่า แฟนตาซี ลี้ลับ และความเชื่อ ต่อเนื่องตลอดปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่ช่อง 8 จะบุกเพิ่มเติมในส่วนของละครภายใต้ความชอบของฐานคนดูช่อง 8 นอกจากนี้ ยังเพิ่มความบันเทิงด้วยรายการวาไรตี้ต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ได้แก่ “ครัวลั่นทุ่ง” “อึ้งทึ่งเสียว” “แปลกทั่วทิศ” และรายการใหม่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงบนช่องทางออนไลน์ “ช่องส่องผี” ด้วยความหลากหลายของประเภทรายการที่ได้รับความนิยม ทำให้ “ช่อง 8” มีเรตติ้งครองอันดับต้นของประเทศ จากการสำรวจของ AGB Nielsen Media Research (Thailand) ตลอดปี 2562
ทีวีผ่านดาวเทียม ประกอบด้วย 3 ช่องหลัก ได้แก่ สบายดีทีวี ช่อง 2 และ SATV โดยแต่ละช่องจะมีคอนเซปต์ และลักษณะรายการเป็นของตนเอง ดังนี้
“สบายดีทีวี ช่องเพลงฮิตอันดับ 1 ของเมืองไทย” จับกลุ่มเป้าหมายผู้ชื่นชอบเพลงไทย ในหลากหลายแนวเพลง ทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลงแนวเพื่อชีวิต เพลงสตริง เพลงฮิตในอดีต และเพลงเก่าหาฟังยาก ด้วยจุดแข็งของช่อง “สบายดีทีวี” ที่ดูแลการผลิตและบริหารคอนเทนต์เองภายใต้ค่ายเพลงอาร์สยาม ทำให้มีการนำเสนอรายการได้หลากหลายรูปแบบ ควบคู่ไปกับการคัดสรรผู้ดำเนินรายการที่มีเอกลักษณ์ เป็นที่จดจำและชื่นชอบกับคนหลากหลายกลุ่ม จึงทำให้ช่อง “สบายดีทีวี” เป็นช่องที่สามารถรับชมได้อย่างเพลิดเพลิน สนุกสนานได้ตลอดทั้งวัน และมีอีเว้นท์อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถสื่อสารและเข้าถึงผู้ชมได้มากขึ้น
“ช่อง 2” รวบรวมสุดยอดละครดัง และซีรีส์ต่างประเทศ ทั้งจีน อินเดีย และเกาหลีที่ได้รับความนิยมอย่างสูงจากช่อง 8 คัดสรรและนำเสนออย่างเข้มข้นบน “ช่อง 2” เพื่อรักษาฐานกลุ่มผู้ชมที่ชื่นชอบความบันเทิงอย่างครบรส
“SATV” หรือ “Satellite Variety” นำเสนอ MV เพลงฮิต รวมถึงซีรีส์และภาพยนตร์ชั้นนำตลอดทั้งวัน
อุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์มีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงสายตาคนดูและเม็ดเงินโฆษณารุนแรงขึ้นมากกว่าในอดีต ตามใบอนุญาตดิจิทัลทีวีประเภทธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเป็น 24 ใบอนุญาต (22 ช่อง) แม้ว่าในปี 2562 ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะอนุญาตให้ช่องทีวีดิจิทัลจำนวน 7 ช่องยุติการออกอากาศและคืนใบอนุญาตการประกอบกิจการ ทำให้มีจำนวนช่องทีวีดิจิทัลเหลืออยู่ทั้งสิ้น 15 ช่อง ก็มิได้ทำให้การแข่งขันในธุรกิจนี้ลดน้อยลง และยังคงกระจุกตัวอยู่ในช่องผู้นำเท่านั้น ช่อง 8 ในฐานะที่เป็นช่องที่มีประสบการณ์ในการทำสื่อโทรทัศน์มาอย่างยาวนานจากการที่เคยอยู่ในธุรกิจทีวีดาวเทียมมาก่อน ทำให้บริษัทฯ มีความรู้ความสามารถ ผลิตผลงานที่มีคุณภาพได้ถูกใจผู้ชมเป็นอย่างดีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะอุตสาหกรรมสื่อโดยรวมที่ชะลอตัวลง แม้ว่าจำนวนผู้ชมทีวีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
จากการแข่งขันของผู้ประกอบการอย่างสูงในปัจจุบัน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัว ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในระบบค่อนข้างจำกัด และบางส่วนถูกย้ายไปสำหรับการโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ การจะอยู่ให้ได้ในอุตสาหกรรมนี้ การผลิตรายการให้โดดเด่น เป็นที่สนใจ และตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการบริหารต้นทุนการผลิตรายการอย่างเหมาะสม เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งยวด และอีกสิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้ ก็คือ การนำคอนเทนต์ที่น่าสนใจไปวางไว้บนสื่อออนไลน์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ก็จะก่อให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง
การแข่งขันกันอย่างสูงด้วยความเข้มข้นและหลากหลายของคอนเทนต์บนช่องทีวีดิจิทัล ทำให้การรับชมผ่านช่องทีวีดาวเทียมมีจำนวนลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการประกอบการทีวีดาวเทียมนั้นไม่สูงนักเมื่อเทียบกับทีวีดิจิทัล บริษัทฯ จึงยังคงให้ความสำคัญกับธุรกิจทีวีดาวเทียม โดยพยายามรักษาความเป็นผู้นำในธุรกิจทีวีดาวเทียม และบริหารต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยส่วนหนึ่งเป็นการนำคอนเทนต์ดังในอดีตมาฉายผ่านหน้าจออีกครั้ง ซึ่งจะได้สายตาผู้ชมที่หลากหลายและไม่ซ้ำกัน ร่วมกับการแสวงหารายได้ใหม่ โดยการนำช่องทีวีดาวเทียมไปต่อยอดเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทฯ
กลยุทธ์การตลาด นอกจากกำหนดกลุ่มผู้ชมเป้าหมายที่ชัดเจน การออกแบบและผลิตรายการให้มีคุณภาพนั้น บริษัทฯ ยังได้นำจุดแข็งทางการแข่งขันขององค์กรสำหรับกลุ่มผู้ชมช่อง 8 จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ชมอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากยังเป็นกลุ่มผู้ชมหลักที่ดูรายการทีวี ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีความสามารถในการซื้อสูง อีกทั้งการใช้ประโยชน์จากกลุ่มตลาดวัยรุ่นและตลาดเพลงลูกทุ่งที่บริษัทฯ คุ้นเคยดีมาตั้งแต่อดีต ผลิตรายการบนช่องทีวีดาวเทียม ทั้งในด้านศิลปิน นักร้องนักแสดง พิธีกรในสังกัด เพลง และคอนเทนต์อื่นๆ โดยนำมาใช้เป็นองค์ประกอบหลักในการผลิตรายการ เมื่อผนวกเข้ากับจุดแข็งของทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการผลิตสื่อรายการโทรทัศน์แล้วทำให้ผลงานการผลิตมีคุณภาพและมีผลตอบรับที่ดี ผนวกเข้ากับการวางโครงสร้างให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และการบริหารต้นทุน โดยใช้พนักงานของบริษัทฯ ในการผลิตงานส่วนหนึ่ง และใช้การจ้างงานบุคลากรภายนอก (Outsourcing) อีกส่วนหนึ่ง รวมถึงการใช้บุคลากรร่วมกันสำหรับการดำเนินงานของทั้งทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียม ทำให้การบริหารต้นทุนของสื่อโทรทัศน์เป็นไปตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นการสร้างคุณภาพรวม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากทั้งผู้ชมและลูกค้า ไม่เฉพาะแต่ในส่วนของการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ชมซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนารูปแบบการผลิตรายการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ชมและลูกค้า และทำให้ความนิยมในตัวรายการสูงขึ้น อีกส่วนที่สำคัญ คือ คุณภาพการผลิตที่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ชมและลูกค้า รวมถึงด้านการบริการทั้งก่อนและหลังการขาย เช่น การตอบสนองความต้องการของลูกค้าอย่างรวดเร็วและแม่นยำ การรับฟังและแก้ปัญหาให้กับลูกค้า การจัดทำแพ็คการขายโฆษณาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น
บริษัทฯ ได้เซ็นสัญญากับบุคลากรต่างๆ และยังมีการคัดสรรบุคลากรทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่มีศักยภาพ มีความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเป้าหมาย โดยในส่วนของบุคลากรเบื้องหน้า มุ่งเน้นที่ศิลปินนักแสดงในสังกัดของกลุ่มอาร์เอส และอีกส่วนหนึ่งได้มาจากการคัดเลือกนักแสดง และศิลปินอิสระ สำหรับทีมงานผลิตนั้น ในส่วนของการสร้างสรรค์รูปแบบงานและการควบคุมการผลิตเป็นการจัดการโดยทีมงานของบริษัทฯ ส่วนของการดำเนินการผลิตอยู่ในรูปแบบของพนักงานภายในส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการจ้างผลิต รวมถึงบริษัทฯ มีพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ ในการคัดเลือกรายการที่มีความแปลกใหม่มานำเสนอต่อผู้ชมอย่างสม่ำเสมอ
< กลับบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจผ่านช่องทาง On-Air ระบบคลื่นความถี่วิทยุ F.M. 93.0 MHz ในกรุงเทพและปริมณฑล ทั่วประเทศผ่านช่องทาง Online ที่ www.COOLISM.net และช่องทาง On Mobile ที่ Application COOLISM ภายใต้แบรนด์ COOLfahrenheit โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สถานีวิทยุ |
COOLfahrenheit |
ผู้ให้สัมปทานคลื่นวิทยุ |
สถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือ |
วันและเวลาออกอากาศ |
24 ชั่วโมง |
สัญญาณส่งครอบคลุมพื้นที่ |
กรุงเทพฯ ปริมณฑล และทั่วประเทศ ผ่านออนไลน์และโทรศัพท์มือถือ |
แนวคิด (Concept) |
GEN COOL Living Young & Beyond |
กลุ่มผู้ฟังเป้าหมายหลัก |
Generation C อายุระหว่าง 20-44 ปี |
COOLfahrenheit ดำเนินการตามกลยุทธ์ Digital Transformation ไม่ยึดติดแบรนด์ไว้กับช่องทางวิทยุ FM Analog เท่านั้น โดยรุกสู่แพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย และยังคงรักษาแพลตฟอร์มวิทยุควบคู่กันไป ในรูปแบบ Hybrid บริษัทฯ ยังคงประกอบกิจการวิทยุเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ โดยยังคงเน้นรักษาฐานความนิยมไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในปัจจุบัน COOLfahrenheit ภายใต้คอนเซปต์ “GEN COOL Living Young & Beyond” สามารถรักษาฐานผู้ฟังทั่วประเทศและความนิยมในการรับฟังไว้จนครองความนิยมของสถานีในอันดับ 1 ของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องมากว่า 16 ปี จากผลการสำรวจของ AGB Nielsen Media Research (Thailand) ส่งผลให้ลูกค้าบริษัทโฆษณา และบริษัทเจ้าของสินค้า ยังคงความเชื่อมั่นในการใช้สื่อโฆษณาของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง
COOLfahrenheit สถานีที่นำเสนอเพลงไทยสากลสำหรับกลุ่ม Generation C ที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ อายุระหว่าง 20-44 ปี ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ สถานีได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ฟังสูงสุดมากว่า 16 ปี และเป็นสถานีแรกที่สร้างปรากฏการณ์การนำเสนอเพลงเพราะต่อเนื่องมากที่สุด โดยทุกๆ บทเพลงเพราะได้ผ่านการคัดสรรจากผลสำรวจความนิยมของผู้ฟังอย่างแท้จริง พร้อมด้วยทีมคูลเจมืออาชีพที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและได้รับความนิยมจากกลุ่มคนฟัง และการจัดกิจกรรมที่ตอบสนองไลฟสไตล์และเปิดโลกทัศน์ของกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรม Signature อาทิ COOL Outing ที่มอบรางวัลใหญ่ให้กับผู้โชคดีแบบยกออฟฟิศได้เดินทางพักผ่อนยังจุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ Ink Eat All Around กิจกรรมสำหรับนักชิมที่จะพาไปชิมอาหารอร่อยทั้งในประเทศและต่างประเทศโดย การันตีโดย มล. ภาสันต์ สวัสดิวัฒน์ และ COOL Music Fest มหกรรมมิวสิคเฟสติวัลสำหรับคน Gen Y ส่งผลให้ COOLfahrenheit เป็นสถานีเพลงอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจของ AGB Nielsen Media Research (Thailand) ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2562) ในกลุ่มรายการวิทยุประเภทเพลงไทยสากล ของผู้ฟังอายุ 20 - 44 ปี
การตลาดและการแข่งขันของธุรกิจสื่อวิทยุยังคงมีอยู่สูงเนื่องจากงบประมาณโฆษณาที่ลดลง ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อสื่อโฆษณากับสถานีที่ได้รับความนิยมสูงเป็นปัจจัยหลัก ในขณะเดียวกันกลยุทธ์ด้านราคาก็มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ บริษัทฯ จึงนำจุดแข็งในความเป็นสถานีที่มีเรตติ้งอันดับที่ 1 มาเป็นกลยุทธ์ CPM หรือ Cost per Thousand เป็นการเปรียบเทียบสัดส่วนจำนวนผู้ฟังและราคาโฆษณาต่อหน่วย เพื่อนำเสนอความคุ้มค้า ให้ลูกค้าสามารถใช้มีเดียได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด นอกจากนั้นยังมีการสร้างแพคเก็จการขายใหม่ๆ ที่ Bundle สื่อภายใต้แบรนด์ COOL อย่างครบวงจรทั้ง On Air Online และ On Mobile โดยมีผู้ฟังผ่านระบบออนไลน์ต่อเดือนสูงกว่า 49 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา ครองแชมป์อันดับ 1 ของเอเชีย
ธุรกิจเพลงของอาร์เอส มีการดำเนินงานในลักษณะครบวงจร โดยทำงานในทุกมิติ เน้นการทำงานที่ไร้ขอบ เพื่อให้เกิดคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งตัวศิลปิน ตลาด และ กลุ่มเป้าหมาย ผ่านการวางกลยุทธ์สื่อและการตลาด การบริหารศิลปิน และการบริหารคอนเทนต์เพลง ทั้งในแง่ตัวศิลปิน งานเพลง ผ่านช่องทางทั้งในสื่อออนไลน์ เช่น สตรีมมิ่ง (Streaming), โซเชียลมีเดีย, ดาวน์โหลด และออฟไลน์ เช่น โทรทัศน์ อีเว้นท์ และโชว์บิซ
การวางโครงสร้างการประกอบธุรกิจเพลง (Business Model) การทำงานเพลงจะเริ่มต้นจากการนำเสนอแนวความคิด คอนเซปต์ของงาน และกำหนดกลุ่มผู้ฟังเป้าหมาย ร่วมกับศิลปินที่พร้อมจะร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กัน ด้วยการที่อาร์เอสมีทีมงานที่มีประสิทธิภาพและประสบการณ์ในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงช่องทางสื่อที่มีศักยภาพทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้สามารถผลิตผลงานเพลงได้หลากหลายเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายได้ครบทุกกลุ่มและสามารถผลิตผลงานออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นจึงนำเสนอคอนเซปต์และกลยุทธ์ ต่อคณะกรรมการบริหารธุรกิจเพลง (Music Business Management Board) เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการ
การวางนโยบายการผลิตผลงานในจำนวนที่เหมาะสม เน้นการให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลงาน และการดูแลสินค้าเมื่อออกสู่ตลาดอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ โดยเน้นหลักไปในการสื่อสารร่วมกับตัวศิลปินในช่องทางโซเชียลมีเดียที่ดูแลร่วมกัน เพื่อทำให้การผลิตผลงานแต่ละโปรเจคเป็นไปตามการวางแผนในขั้นต้น และมีการวัดผลทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงการตอบรับของกลุ่มเป้าหมาย ผ่านตัววัดในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ
การใช้ประโยชน์จากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ของศิลปิน และค่ายเพลงของบริษัทฯ และบริษัทในเครือ เพื่อให้การประชาสัมพันธ์ผลงานมีประสิทธิภาพ และเป็นการใช้สื่อที่มีอยู่ทั้งหมดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การบริหารจัดการลิขสิทธิ์งานเพลงที่มีอยู่อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับบริษัทฯ
การต่อยอดในเชิง Value ของศิลปินที่ผลิตผลงาน โดยจะต่อยอดทั้งในเชิงของการวางกลยุทธ์ในการสร้างรายได้จากงานอีเว้นท์ และโชว์บิซต่างๆ รวมไปถึงการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือพรีเซนเตอร์ของผลิตภัณฑ์ที่มี positioning และกลุ่มเป้าหมายเดียวกับกับตัวศิลปิน
การวางนโยบายในการเปิดโอกาสให้กับกลุ่มศิลปินใหม่ นักแต่งเพลง และช่องทางสร้างสรรค์งานเพลงหรือช่องทางสื่อในรูปแบบใหม่ เพื่อพัฒนาและยกระดับงานเพลงของกลุ่มอาร์เอสให้ทันสมัยและครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตลอดเวลา
รายได้จากอีเว้นท์ และโชว์บิซ ของศิลปินที่อยู่ในสังกัด เป็นการวางกลยุทธ์เพื่อการขายงานแสดง งานโชว์ของศิลปินตลอดทั้งปี รวมทั้งการต่อยอดเชิงภาพลักษณ์ของศิลปินในแง่ของการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ หรือพรีเซนเตอร์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงการต่อยอดในเชิงธุรกิจกับคู่ค้า หรือ Partner ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของศิลปิน เช่น การทำ Branded Content
รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์เพลงในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางระบบดิจิทัล (Digital Content) ทั้งการฟังเพลงในรูปแบบ Online Streaming ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น JOOX, Spotify การฟังเพลงและดูมิวสิควิดีโอออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม เช่น YouTube, AIS play หรือจะเป็นการดาวน์โหลดเพลง การดาวน์โหลดเสียงเรียกเข้าหรือเสียงรอสายผ่านทางโทรศัพท์ การดาวน์โหลดเพลง (Full Song) ผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น iTunes หรือผ่านเครือข่ายของระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ (WAP) เป็นต้น
รายได้จากการจัดเก็บลิขสิทธิ์เพลง โดยบริษัท จัดเก็บลิขสิทธิ์ไทย จำกัด หรือในชื่อย่อว่า TCC (Thai Copyright Collection CO., LTD.) เป็นบริษัทในเครือที่ทำหน้าที่จัดเก็บลิขสิทธิ์ผลงานต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ให้กับบริษัทฯ
ปัจจุบันบริษัทฯ มีศิลปินนักร้องเพลงที่มีศักยภาพ ภายใต้การนำเสนอในแบรนด์ อาร์สยาม และได้วางแผนในเชิงกลยุทธ์เพื่อตอบรับกับมีเดียแลนด์สเคป และกลุ่มเป้าหมายที่มีการปรับตัว โดยจะเพิ่มศิลปินผ่านค่ายเพลงที่เป็นแนวสตริงเพิ่มขึ้นในปี 2563
ศิลปินนักร้องในสังกัด เป็นศิลปินที่มีความสามารถในการแสดง และมีมูลค่าในการต่อยอดทางธุรกิจ โดยมีทั้งศิลปินเดี่ยวและศิลปินกลุ่ม ซึ่งสามารถนำเสนองานเพลงที่หลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ตัวอย่างศิลปินในค่ายอาร์สยาม ได้แก่ ใบเตย อาร์สยาม จ๊ะ อาร์สยาม กระแต อาร์สยาม เบิ้ล ปทุมราช อาร์สยาม ลูลู่ - ลาล่า อาร์สยาม วงเฟลม ธัญญ่า อาร์สยาม อ๊อฟ ดอกฟ้า อาร์สยาม เป็นต้น
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยมีตัวแปรที่สำคัญคือ การใช้งานอินเทอร์เน็ต และการเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายของอุปกรณ์สมาร์ทโฟน (Smartphone) ส่งผลให้ ผู้บริโภคหันมาฟังเพลงออนไลน์ ผ่านทางเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ และฟังเพลงบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น จึงทำให้มีงานเพลงและศิลปินออกสู่ตลาดเพลงมากมาย ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น
ดังนั้นบริษัทฯ จึงต้องให้ความสำคัญกับการทำงานเพลง การวางแผนที่ตอบรับกับกลุ่มเป้าหมาย และการใช้โซเชียลมีเดียที่ปรับเปลี่ยนไปตามกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และตรงตามไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม
< กลับ